จากอาจารย์ เม.ย. 2015 : ยินดีต้อนรับชิโดชิใหม่

สำหรับเดือนที่ผ่านมาเรามีข่าวดีสำหรับโรงฝึกประเทศไทย คือ มีการเลื่อนสายดำในระดับสูงขึ้นสำหรับผู้ฝึกขั้นสูง คือ ระดับที่ห้าเป็นหกเพิ่มหนึ่งคน และ ได้ผู้ได้รับระดับห้าเป็นชิโดชิใหม่เพิ่มขึ้นอีกสี่คน ตามที่ประกาศไปเมื่อครั้งที่แล้ว นับเป็นข่าวดีที่รอกันมานานสำหรับอาจารย์เองที่ได้มีสมาชิกในระดับชิโดชิเพิ่มขึ้นอีก ในการสอบคราวนี้มีขึ้นที่โรงฝึกโตเกียวบุโดกัง ที่เมืองอะยะเสะ ประเทศญี่ปุ่น สมาชิกทั้งสี่สามารถสอบผ่านการทดสอบ Sakki test ของบูจินกันไปได้อย่างเต็มภาคภูมิ จนได้รับการปรับขึ้นสู่สายดำระดับห้าและรับตำแหน่งชิโดชิอย่างเต็มตัว

หลังสอบมีทั้งอาจารย์ชาวญี่ปุ่น และ ชาวต่างชาติหลายคนเข้ามาแสดงความยินดีกับผมในฐานะผู้สอน สำหรับผมซึ่งเป็นผู้สอนแล้ว สิ่งที่น่าภูมิใจในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องที่สมาชิกของโรงฝึกสอบผ่าน แต่เป็นเรื่องที่สมาชิกของโรงฝึกได้พิสูจน์ตัวเองว่ามีความเหมาะสมในสายที่ตนได้รับได้ในระดับสากล เป็นการหยั่งรากให้ลึกขึ้นของวิชาบูจินกัน บูโด ไทจุสสุในประเทศไทย ซึ่งสามารถบอกได้ว่าเรามาถูกทางแล้ว โดยอาจารย์มาซะอะกิเองก็พอใจกับผลที่ได้

อาจารย์มาซะอะกิมักจะเน้นย้ำกับผมให้หา”คนที่ดี” เข้าฝึกวิชาบูจินกัน นินจุสสุ ซึ่งการพิสูจน์ตัวเองของแต่ละคนนั้นผ่านเวลามาอย่างยาวนานมาก เพราะ การสอบชิโดชิจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกอยู่ในสายดำระดับสี่แล้ว ซึ่งหมายความว่าจากเริ่มฝึกครั้งแรกจนถึงการสอบมีเวลาในการฝึกมานานมาก ในบูจินกันถึงแม้จะให้สายค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับหลายวิชา เพราะไม่จำกัดเวลาในการครองสายโดยจะขึ้นกับความสามารถไม่ใช่เวลา เพราะ เป็นการฝึกให้ขั้นในแบบสมัยโบราณที่คนมีอายุไม่ยืนกันนักเนื่องจากต้องออกรบแต่ยังหนุ่ม แต่ถึงอย่างงั้นแล้วในระดับที่จะสอบนี้สายดำขั้นที่ห้าอย่างน้อยต้องฝึกมาประมาณแปดถึงเก้าปี  ซึ่งในระยะเวลาที่ยาวนานที่ผ่านมานี้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคงการฝึกไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ เป็นระยะเวลานานพอที่จะเปลี่ยนจากเด็กที่เรียนมัธยมต้นกลายเป็นจบมหาวิทยาลัยกลายเป็นผู้ใหญ่ จากหนุ่มสาวมหาวิทยาลัยที่มีอิสระในการใช้ชีวิตก็กลายเป็นผู้มีภาระติดตัวมีลูกมีครอบครัว เป็นเหตุที่ให้ทำให้คนฝึกส่วนมากไม่สามารถมาถึงจุดนี้ได้โดยง่าย โดยเฉพาะถ้าไม่มีความรักในการฝึกจริง จะไม่สามารถแบ่งเวลาอย่างเหมาะสมทั้งเรื่องการฝึกและการใช้ชีวิต อีกทั้งเวลาที่ยาวนานที่ถูกฝึกฝนทำให้คนมีโอกาสออกนอกลู่นอกทางกันได้ง่าย ทั่วโลกมีคนจำนวนมากที่เริ่มต้นแบบถูกต้อง แต่พอภายหลังก็หลุดกรอบไปก็เยอะ คนจำนวนมากอยากได้ทางลัดที่รวดเร็วกว่านี้ เช่น เพื่อจะให้ตนสามารถสอนได้แทนที่จะมาตามลำดับขึ้นจนถึงขั้นที่เหมาะสม ก็เลยยกตัวเองเป็นครูเองเปิดวิชาใหม่เองเลยง่ายกว่า

สำหรับการขึ้นสู่ระดับสายดำขั้นห้าในบูจินกันมีความพิเศษ ไม่ใช่การเลื่อนสายตามปรกติ แต่เป็นการเลื่อนขึ้นเพื่อรับตำแหน่งชิโดชิ ซึ่งสามารถเป็นผู้สอนวิชาบูจินกันได้อย่างเต็มตัว ชิโดชินั้น คือ การเปิดประตูบานใหม่ของผู้ฝึกระดับสายดำ สู่การใช้ชีวิตในแบบ Bufu Ikkan หรือ การใช้ชีวิตบนเส้นทางของศิลปะการต่อสู้ การทดสอบนั้นมีขึ้นก็เพื่อให้ได้รับรู้ถึงสิ่งที่ยังไม่รู้ เพื่อเปิดหูเปิดตาผู้ฝึกเข้าสู่ระดับของการฝึกอีกขั้นหนึ่ง เพื่อที่จะได้พัฒนาเป็นชิโดชิ (ผู้ชี้ทาง) ที่เหมาะสมต่อไป

สำหรับผู้ฝึกศิลปะการต่อสู้การขึ้นสู่ระดับของครูอาจารย์ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในโรงฝึกที่เข้มงวดอย่างในวิชาการต่อสู้โบราณของญี่ปุ่น การฝึกฝนไม่ได้ดูเฉพาะเรื่องฝีมือเวลาฝึก แต่จะรวมถึงความรู้ ความสามารถ จิตใจ คุณธรรม และ จริยธรรม ที่เหมาะสมอีกด้วย แตกต่างจากวิชาศิลปะการต่อสู้สมัยใหม่ (เก็นได) ส่วนมากที่ใช้การสอบเพื่อวัดความสามารถของผู้ฝึก แต่ในบูจินกันไม่มีการสอบแบบนั้นแต่ตัวครูจะต้องเป็นผู้พิจารณาและประเมินลูกศิษย์ในทุก ๆ ด้าน และ ถือเป็นความรับผิดชอบของนักเรียนเองที่จะปฏิบัติตนให้ถูกต้อง โดยเมื่อลูกศิษย์สามารถพิสูจน์ตนเองว่าสามารถขึ้นสู่ระดับที่สูงขึ้นได้ก็จะได้ ก็เป็นความรับผิดชอบของครูที่จะพิจารณารับรองลูกศฺษย์ตนเองในการเลื่อนสายต่อไปเนื่องจากในมุมมองของศิลปะการต่อสู้โบราณนั้นการไว้วางใจที่จะให้ลูกศิษย์ขึ้นมาเป็นผู้สืบทอดเป็นครูนั้นเป็นสิ่งอันตราย เพราะ ความรับผิดชอบการเป็นครูในวิชาศิลปะการต่อสู้แตกต่างจากวิชาอื่น ๆ เนื่องจากเป็นการสอนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคนอื่น ๆ  ทั้งตัวลูกศิษย์เอง และ บุคคลที่สาม ศิลปะการต่อสู้นั้นจะมองการสอนว่าไม่ใช่การสอนเพื่อความสนุกสนาน รื่นเริง เข้าสังคม หรือ สอนเป็นกีฬาเพื่อสุขภาพ แต่เป็นการสอนเพื่อการเอาตัวรอด เพื่อชีวิต หากนำไปสอนกันแบบผิด ๆ ต่อไปแล้วการสอนผิดพลาดนั้น สามารถทำให้ลูกศิษย์รุ่นต่อ ๆ ไปมีความผิดพลาดที่ถึงกับชีวิตได้

สำหรับตัวผมเองได้เห็นพัฒนาการของแต่ละคนมาตั้งแต่เริ่มต้นเข้าประตูโรงฝึกครั้งแรก เข้าเริ่มเป็นสายขาวจนกระทั่งได้รับสายดำแต่ละระดับสูงขึ้นมาเรื่อย ๆ ทุกคนจะได้ผ่านการทดสอบในแต่ละขั้น ทำให้ได้เห็นช่วงที่ดีและแย่ของแต่ละคน เห็นวิธีการจัดการกับตัวเองของแต่ละคน เมื่อแต่ละคนผ่านพ้นภาวะนั้นมาได้ สามารถแก้ไขส่วนที่บกพร่องมาได้ ก็จะเข้าสู่การฝึกระดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ  จนถึงจุดที่เหมาะสมกับการสอบเพื่อเป็นชิโดชิได้ เหมือนที่อาจารย์มาซะอะกิได้เคยสอนไว้ในบทความเรื่อง คิฮอน แฮปโปว่า นักศิลปะการต่อสู้นั้นไม่มีจุดสิ้นสุดในการฝึกฝนตัวเอง การที่จะขึ้นสู่ระดับที่สูงขึ้นได้จริง ๆ ก็คือการลดข้อผิดพลาดของตัวเองออกไป ซึ่งฟังดูเหมือนง่ายแต่จริง ๆ แล้วทำได้ยากมากเพราะมนุษย์มักจะคิดว่าตัวเองไม่มีข้อผิดพลาด จนทำให้คนส่วนมากย่ำอยู่กับที่จนกว่าจะยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเองเสียก่อน

การเลื่อนสายในครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จของผู้ฝึกทั้งสี่ โดยในปัจจุบันเราเพิ่งมีสมาชิกโรงฝึกห้าคนที่ขึ้นมาถึงจุดนี้ ซึ่งแต่ละคนกลับมาแล้วก็มีความรับผิดชอบในการดูแลกลุ่มฝึกของตนด้วย จึงน่ายินดีที่เราได้มีโรงฝึกอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้นอีกถึงสี่โรงฝึก ขอให้ทุกคนได้ภูมิใจและพยายามก้าวหน้าต่อไป

Gambatte kudasai!

Nijiryu

This entry was posted in ข่าวจากโรงฝึก and tagged , , . Bookmark the permalink.